ปัจจุบันเทคโนโลยีและการสื่อสารได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
ในการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์อุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาค้นคว้าและการทำธุรกิจ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
ทำให้องค์กรต่างๆ
นำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาช่วยในการดำเนินงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการรับ-ส่งข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์
การทำธุรกิจและให้บริการบนอินเตอร์เน็ต ตลอดจนการใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการทำงาน
ไม่เพียงแต่ในองค์กรต่างๆ
เท่านั้นที่นำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งาน ผู้ใช้ตามบ้านโดยทั่วไป
ก็ได้จัดหาคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ส่วนตัวกันมากขึ้น
เนื่องจากคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมีราคาถูก แต่มีประสิทธิภาพสูง
รวมทั้งสามารถใช้งานได้ง่ายกว่าในอดีตมาก จนมีการประมาณการกันว่า ในอนาคตคอมพิวเตอร์จะเป็นอุปกรณ์พื้นฐานในทุกๆ
ครัวเรือนเหมือนกับเครื่องรับโทรทัศน์
ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว
การเรียนรู้การใช้งานคอมพิวเตอร์ในระดับเบื้องต้น
จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นในการทำงาน, การศึกษาหรือเพื่อความบันเทิง
ให้มีประสิทธิภาพและความสะดวกเพิ่มมากขึ้น
คอมพิวเตอร์มีข้อดีอย่างไร
? มนุษย์เราจึงได้นำมาใช้งานกันอย่างกว้างขวาง
ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ได้ เราต้องทราบคุณสมบัติพื้นฐานของคอมพิวเตอร์เสียก่อน
ซึ่งมีอยู่ 5 ประการที่สำคัญดังนี้
1.
ทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic machine)
คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการบันทึกข้อมูล
ประมวลผล และแสดงผลลัพธ์
การจัดเก็บข้อมูลที่บันทึกผ่านทางแป้นพิมพ์หรืออุปกรณ์อื่นๆ
ข้อมูลเหล่านี้จะถูกแปลงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าเพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจและสามารถประมวลผลได้
และเมื่อคอมพิวเตอร์ประมวลผลเรียบร้อยแล้ว
ข้อมูลที่เป็นสัญญาณไฟฟ้าจะถูกแปลงกลับให้เป็นรูปแบบที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้
2.
การทำงานด้วยความเร็วสูง (speed)
เนื่องจากการทำงานของคอมพิวเตอร์เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์
ดังนั้นการดำเนินงานต่างๆ จึงสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็ว
(มากกว่าพันล้านคำสั่งในหนึ่งวินาที)
3.
ความถูกต้องแม่นยำเชื่อถือได้ (accuracy and reliability)
คอมพิวเตอร์จะทำงานตามคำสั่งที่มนุษย์เขียนโปรแกรมหรือคำสั่งไว้
ถ้าผู้ใช้ป้อนข้อมูลและชุดคำสั่งมีความถูกต้อง
ผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผลก็จะมีความถูกต้องเชื่อถือได้
4.
การเก็บข้อมูลได้ในปริมาณมาก (storage)
คอมพิวเตอร์มีหน่วยความจำที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลที่บันทึกเข้าไป
ความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลนี้จะขึ้นอยู่กับขนาดของคอมพิวเตอร์ เช่น
เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันจะมีหน่วยเก็บข้อมูลสำรองที่สามารถบันทึกข้อมูลได้มากกว่าหนึ่งล้านตัวอักษร
5.
การสื่อสารเชื่อมโยงข้อมูล (communication)
คอมพิวเตอร์สามารถติดต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ
และสามารถทำงานที่หลากหลายมากขึ้นกว่าการใช้คอมพิวเตอร์แบบระบบเดี่ยว ตัวอย่างเช่น
การนำคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อการสืบค้นข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์อื่น
(remote computer)
จากคุณสมบัติของคอมพิวเตอร์เราจะเห็นได้ว่า คอมพิวเตอร์สามารถทำงานหลายๆ
อย่างที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ หรือถ้ามนุษย์ทำได้
ก็จะใช้เวลามากและมีข้อผิดพลาดมากมาย เช่น การคำนวณตัวเลขหลายหลักเป็นจำนวนมากภายในเวลาจำกัด,
การทำงานในแบบเดียวกันซ้ำๆ หลายล้านครั้ง
หรือการจดจำข้อมูลตัวเลขและตัวหนังสือหลายหมื่นหน้าโดยไม่มีการลืม
งานที่น่าเบื่อและยุ่งยากเหล่านี้เราสามารถใช้คอมพิวเตอร์ทำงานแทนได้
โดยเรามีหน้าที่เพียงเป็นผู้สั่งการเท่านั้น
เครื่องคอมพิวเตอร์จะทำงานได้นั้นจะต้องประกอบไปด้วยส่วนประกอบ
3 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน คือส่วนแรกนั้นจะเป็นอุปกรณ์ต่างๆ หรือที่เรียกว่า ฮาร์ดแวร์ (Hardware) เช่น จอภาพ ซีพียู คีย์บอร์ด
เครื่องพิมพ์ เมาส์ เป็นต้น ส่วนที่สอง เรียกว่า ซอฟต์แวร์ (Software) หมายถึงโปรแกรมต่างๆ ที่ใช้สั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่เราต้องการ
ส่วนสุดท้ายเรียกว่า พีเพิลแวร์ (Peopleware) ซึ่งหมายถึง
บุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ เช่น พนักงานป้อนข้อมูล, นักเขียนโปรแกรม, นักวิเคราะห์ระบบ
ทั้งสามส่วนนี้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของคอมพิวเตอร์ถ้าขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไปแล้ว
คอมพิวเตอร์ก็จะไม่สามารถใช้งานได้เลย
1.
ฮาร์ดแวร์ (Hardware)
หมายถึงส่วนที่เป็นตัวเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ประกอบด้วยหน่วยต่างๆ 4 หน่วยดังนี้
1.1.
หน่วยรับข้อมูล (Input Unit)
1.2. หน่วยประมวลผลกลาง (Central Processing Unit)
1.3.
หน่วยความจำ (Memory Unit)
1.4. หน่วยแสดงผลลัพธ์ (Output Unit)
สำหรับการทำงานของแต่ละหน่วยสามารถเขียนแผนภาพได้ดังนี้
1.1.
หน่วยรับข้อมูล
ทำหน้าที่ในการรับข้อมูลหรือคำสั่งจากภายนอกเข้าไปเก็บไว้ในหน่วยความจำ
เพื่อเตรียมประมวลผลข้อมูลตามที่ต้องการ
ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการนำเข้าข้อมูลที่ใช้กันอยู่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนั้นมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน
สำหรับอุปกรณ์ที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้
-
แป้นพิมพ์ (Keyboard) -
แทร็คบอล (Trackball)
-
เมาส์ (Mouse) -
จอยสติ๊ก (Joystick)
-
สแกนเนอร์ (Scanner) - จอภาพสัมผัส (Touch Screen)
-
กล้องดิจิตอล (Digital Camera)
1.2.
หน่วยประมวลผลกลาง
ทำหน้าที่ในการประมวลผล
แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1.2.1. หน่วยควบคุม (control
unit) ทำหน้าที่ควบคุมการทำงาน
ควบคุมการเขียนอ่านข้อมูลระหว่างหน่วยความจำของซีพียู
ควบคุมกลไกการทำงานทั้งหมดของระบบ ควบคุมจังหวะเวลา โดยมีสัญญาณนาฬิกาเป็นตัวกำหนดจังหวะการทำงาน
1.2.2. หน่วยคำนวณและตรรกะ (arithmetic
and logic unit) เป็นหน่วยที่มีหน้าที่นำเอาข้อมูลที่เป็นตัวเลขฐานสองมาประมวลผลทางคณิตศาสตร์และตรรกะ
เช่น การบวก การลบ การเปรียบเทียบ และ การสลับตัวเลข เป็นต้น
การคำนวณทำได้เร็วตามจังหวะการควบคุมของหน่วยควบคุม
1.3.
หน่วยความจำ
ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลหรือคำสั่งต่างๆ
ที่รับจากภายนอกเข้ามาเก็บไว้เพื่อประมวลผลและยังเก็บผลที่ได้จากการประมวลผลไว้เพื่อแสดงผลอีกด้วย
แบ่งออกเป็น
1.3.1.
หน่วยความจำหลัก -
เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องต้องอาศัยหน่วยความจำหลักเพื่อใช้เก็บข้อมูล
และคำสั่งซีพียูมีการทำงานเป็นวงรอบโดยการคำสั่งจากหน่วยความจำหลักมาแปล
ความหมายแล้วกระทำตาม
เมื่อทำเสร็จก็จะนำผลลัพธ์มาเก็บในหน่วยคำจำหลัก
ซีพียูจะกระทำตามขั้นตอนเช่นนี้เรื่อย ๆ ไปอย่างรวดเร็ว
เรียกการทำงานลักษณะนี้ว่า
วงรอบของคำสั่ง การแบ่งประเภทหน่วยความจำหลัก
ถ้าแบ่งตามลักษณะการเก็บข้อมูล
กล่าวคือถ้าเป็นหน่วยความจำที่เก็บข้อมูลไว้แล้ว หากไฟฟ้าดับ
คือไม่มีไฟฟ้าจ่ายให้กับวงจรหน่วยความจำ ข้อมูลที่เก็บไว้จะหายไปหมด
เรียกหน่วยความจำประเภทนี้ว่า หน่วยความจำแบบลบเลือนได้ (volatile memory) แต่ถ้าหน่วยความจำเก็บข้อมูลได้โดยไม่ขึ้นกับไฟฟ้าที่เลี้ยงวงจร
ก็เรียกว่า หน่วยความจำไม่ลบเลือน (nonvolatile memory) แต่โดยทั่วไปการแบ่งประเภทของหน่วยความจำจะแบ่งตามสภาพการใช้งาน
เช่น ถ้าเป็นหน่วยความจำที่เขียนหรืออ่านข้อมูลได้ การเขียนหรืออ่านจะเลือกที่ตำแหน่งใดก็ได้
เราเรียกหน่วยความจำประเภทนี้ว่า แรม (Random Access Memory: RAM) แรมเป็นหน่วยความจำแบบลบเลือนได้
และหากเป็นหน่วยความจำที่ซีพียูอ่านได้อย่างเดียว ไม่สามารถเขียนลงไปได้
ก็เรียกว่า รอม (Read Only Memory : ROM) รอมจึงเป็นหน่วยความจำที่เก็บข้อมูลหรือโปรแกรมไว้ถาวร
เช่นเก็บโปรแกรมควบคุมการจัดการพื้นฐานของระบบไมโครคอมพิวเตอร์ (bios) รอมส่วนใหญ่เป็นหน่วยความจำไม่ลบเลือนแต่อาจยอมให้ผู้พัฒนาระบบลบข้อมูลและเขียนข้อมูลลงไปใหม่ได้
การลบข้อมูลนี้ต้องทำด้วยกรรมวิธีพิเศษ เช่น ใช้แสงอุลตราไวโลเล็ตฉายลงบนผิวซิลิกอน
หน่วยความจำประเภทนี้มักจะมีช่องกระจกใสสำหรับฉายแสงขณะลบ
และขณะใช้งานจะมีแผ่นกระดาษทึบปิดทับไว้ เรียกหน่วยความจำประเภทนี้ว่า อีพร็อม (Erasable Programmable Read Only Memory :
EPROM)
1.3.2. หน่วยความจำสำรอง - ใช้เป็นส่วนเพิ่มหน่วยความจำให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น
ทำงานติดต่อยู่กับส่วนความจำหลัก
โดยปกติแล้วหน่วยความจำสำรองจะมีความจุมากและมีราคาถูกกว่าหน่วยความจำหลัก
แต่เรียกหาข้อมูลได้ช้ากว่า เช่น ฮาร์ดดิสก์, ฟลอบปี้ดิสก์
1.4.
หน่วยแสดงผลลัพธ์
ทำหน้าที่ในการแสดงผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณและประมวลผลในรูปแบบที่มนุษย์เข้าใจ
สำหรับอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ในการแสดงผลนั้น ยกตัวอย่างเช่น
-
จอภาพ (Monitor)
-
เครื่องพิมพ์ (Printer)
-
ลำโพง (Speaker)
-
พล็อตเตอร์ (Plotter)
2.
ซอฟต์แวร์
ซอฟต์แวร์ (Software)
หมายถึงส่วนที่ทำหน้าที่เป็นคำสั่งที่ใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์
หรืออาจเรียกว่า “โปรแกรม” ก็ได้
ซึ่งหมายถึง คำสั่งหรือชุดของคำสั่ง ซึ่งสามารถใช้เพื่อสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน
เราต้องการให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำอะไร ก็เขียนเป็นคำสั่ง
ซึ่งจะต้องสั่งเป็นขั้นเป็นตอน และแต่ละขั้นตอนต้องทำอย่างละเอียดและครบถ้วน
ซึ่งจะเกิดเป็นงานชิ้นหนึ่งขึ้นมามีชื่อเรียกว่า โปรแกรม
ผู้ที่เขียนโปรแกรมดังกล่าวก็จะเรียกว่า นักเขียนโปรแกรม (Programmer) สำหรับการเขียนโปรแกรมนั้นจะต้องใช้ภาษาที่ใช้ในการเขียนโปรแกรมโดยเฉพาะ
ซึ่งหมายถึง ภาษาที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ เช่น ภาษาเบสิก ภาษาโคบอล
ภาษาปาสคาล เป็นต้น โปรแกรมที่เขียนขึ้นมาก็จะนำไปใช้ในงานเฉพาะอย่าง เช่น
โปรแกรมสต็อกสินค้าคงคลัง โปรแกรมคำนวณภาษี โปรแกรมคิดเงินเดือนพนักงาน

ซอฟต์แวร์จะแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท คือ
ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) และซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
2.1. ซอฟต์แวร์ระบบ (System
Software)
หมายถึง
โปรแกรมที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของฮาร์ดแวร์ทุกอย่างและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์
แบ่งออกเป็น
-
ระบบปฏิบัติการ (OS – Operating System)
คือ
โปรแกรมที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้งานส่วนต่างๆ ของเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น
ควบคุมหน่วยความจำ ควบคุมหน่วยประมวลผล ควบคุมหน่วยรับและควบคุมหน่วยแสดงผล
ตลอดจนแฟ้มข้อมูลต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงที่สุด
และสามารถใช้อุปกรณ์ทุกส่วนของคอมพิวเตอร์มาทำงานได้อย่างเต็มที่
นอกจากนั้นยังเข้ามาช่วยจัดสรรการใช้ทรัพยากรในเครื่องและช่วยจัดการกระบวนการพื้นฐานที่สำคัญๆ
ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น การเปิดหรือปิดไฟล์
การสื่อสารกันระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ ภายในเครื่อง
การส่งข้อมูลออกสู่เครื่องพิมพ์หรือสู่จอภาพ เป็นต้น
ก่อนที่คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องจะสามารถอ่านไฟล์ต่างๆ หรือสามารถใช้ซอฟต์แวร์อื่นๆ
ได้ จะต้องผ่านการดึงระบบปฏิบัติการออกมาฝังตัวอยู่ในหน่วยความจำก่อน
ปัจจุบันนี้มีระบบปฏิบัติการอยู่หลายตัวด้วยกัน
ซึ่งแต่ละตัวจะมีลักษณะการทำงานที่ไม่เหมือนกัน เช่น Windows 98, Windows Me, Windows 2000, Windows XP,
Linux, UNIX, OS/2, MAC OS
- ตัวแปลภาษา
คือโปรแกรมระบบที่ทำหน้าที่ในการแปลโปรแกรมหรือชุดคำสั่งที่เขียนด้วยภาษาที่ไม่ใช่ภาษาเครื่อง
หรือภาษาเครื่องที่ไม่เข้าใจให้เป็นภาษาที่เครื่องสามารถรู้เรื่องเข้าใจ
และนำไปปฏิบัติได้ เช่น ภาษา BASIC, COBOL,
C, PASCAL, FORTRAN, ASSEMBLY เป็นต้น สำหรับตัวแปลภาษานั้นจะมี 3
แบบคือ
1 ) Assembler เป็นโปรแกรมที่ใช้ภาษาแอสเซมบลี
ซึ่งจะมีลักษณะการแปลทีละคำสั่ง เมื่อทำตามคำสั่งนั่นเสร็จแล้ว
ก็จะแปลคำสั่งถัดไปเรื่อยๆ จนจบ
2 ) Interpreter เป็นโปรแกรมที่ใช้แปลภาษาเบสิก
โดยจะแปลทีละคำสั่งแล้วทำตามคำสั่งนั้น เมื่อทำเสร็จแล้ว
ก็จะแปลคำสั่งถัดไปเรื่อยๆ จนจบ
3 ) Compiler เป็นโปรแกรมที่ใช้แปลภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่อง
ซึ่งจะแปลทั้งโปรแกรมให้เสร็จก่อน จากนั้นจึงจะปฏิบัติตามคำสั่งทีละคำสั่ง
2.2. ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application
Software)
การที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะการที่มีคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ทำให้มีการใช้งานคล่องตัวขึ้น
จนในปัจจุบันสามารถนำคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ติดตัวไปใช้งานในที่ต่าง ๆ ได้สะดวก
การใช้งานคอมพิวเตอร์ต้องมีซอฟต์แวร์ประยุกต์
ซึ่งอาจเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จที่มีผู้พัฒนาเพื่อใช้งานทั่วไปทำให้ทำงานได้สะดวกขึ้น
หรืออาจเป็นซอฟต์แวร์ใช้งานเฉพาะ ซึ่งผู้ใช้เป็นผู้พัฒนาขึ้นเองเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการทำงานของตน
- ซอฟต์แวร์สำเร็จ
ในบรรดาซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่มีใช้กันทั่วไป
ซอฟต์แวร์สำเร็จ (package) เป็นซอฟต์แวร์ที่มีความนิยมใช้กันสูงมาก
ซอฟต์แวร์สำเร็จเป็นซอฟต์แวร์ที่บริษัทพัฒนาขึ้น แล้วนำออกมาจำหน่าย
เพื่อให้ผู้ใช้งานซื้อไปใช้ได้โดยตรง ไม่ต้องเสียเวลาในการพัฒนาซอฟต์แวร์อีก
ซอฟต์แวร์สำเร็จที่มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป และเป็นที่นิยมของผู้ใช้มี 5
กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ซอฟต์แวร์ประมวลคำ (word processing software) ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน (spread sheet software) ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล
(data base management software)
1) ซอฟต์แวร์ประมวลคำ
เป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์ใช้สำหรับการพิมพ์เอกสาร สามารถแก้ไข เพิ่ม แทรก ลบ
และจัดรูปแบบเอกสารได้อย่างดี เอกสารที่พิมพ์ไว้จัดเป็นแฟ้มข้อมูล
เรียกมาพิมพ์หรือแก้ไขใหม่ได้ การพิมพ์ออกทางเครื่องพิมพ์ก็มีรูปแบบตัวอักษรให้เลือกหลายรูปแบบ
เอกสารจึงดูเรียบร้อยสวยงาม
ปัจจุบันมีการเพิ่มขีดความสามารถของซอฟต์แวร์ประมวลคำอีกมากมาย
ซอฟต์แวร์ประมวลคำที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน เช่น วินส์เวิร์ด
จุฬาจารึก โลตัสเอมิโปร
2) ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน
เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการคิดคำนวณ การทำงานของซอฟต์แวร์ตารางทำงาน
ใช้หลักการเสมือนมีโต๊ะทำงานที่มีกระดาษขนาดใหญ่วางไว้ มีเครื่องมือคล้ายปากกา
ยางลบ และเครื่องคำนวณเตรียมไว้ให้เสร็จ บนกระดาษมีช่องให้ใส่ตัวเลข
ข้อความหรือสูตร สามารถสั่งให้คำนวณตามสูตรหรือเงื่อนไขที่กำหนด
ผู้ใช้ซอฟต์แวร์ตารางทำงานสามารถประยุกต์ใช้งานประมวลผลตัวเลขอื่น ๆ ได้กว้างขวาง
ซอฟต์แวร์ตารางทำงานที่นิยมใช้ เช่น เอกเซล โลตัส
3) ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล
การใช้คอมพิวเตอร์อย่างหนึ่งคือการใช้เก็บข้อมูล
และจัดการกับข้อมูลที่จัดเก็บในคอมพิวเตอร์ จึงจำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์จัดการข้อมูล
การรวบรวมข้อมูลหลาย ๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกันไว้ในคอมพิวเตอร์
เราก็เรียกว่าฐานข้อมูล
ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลจึงหมายถึงซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการเก็บ การเรียกค้นมาใช้งาน
การทำรายงาน การสรุปผลจากข้อมูล ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลที่นิยมใช้ เช่น เอกเซส ดีเบส พาราด็อก ฟ๊อกเบส
4) ซอฟต์แวร์นำเสนอ
เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับนำเสนอข้อมูล การแสดงผลต้องสามารถดึงดูดความสนใจ
ซอฟต์แวร์เหล่านี้จึงเป็นซอฟต์แวร์ที่นอกจากสามารถแสดงข้อความในลักษณะที่จะสื่อความหมายได้ง่ายแล้วจะต้องสร้างแผนภูมิ
กราฟ และรูปภาพได้ ตัวอย่างของซอฟต์แวร์นำเสนอ เช่น เพาเวอร์พอยต์
โลตัสฟรีแลนซ์ ฮาร์วาร์ดกราฟิก
5) ซอฟต์แวร์สื่อสารข้อมูล
ซอฟต์แวร์สื่อสารข้อมูลนี้หมายถึงซอฟต์แวร์ที่จะช่วยให้ไมโครคอมพิวเตอร์ติดต่อสื่อสารกับเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นในที่ห่างไกล
โดยผ่านทางสายโทรศัพท์ ซอฟต์แวร์สื่อสารใช้เชื่อมโยงต่อเข้ากับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
เช่น อินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถใช้บริการอื่น ๆ เพิ่มเติมได้
สามารถใช้รับส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ใช้โอนย้ายแฟ้มข้อมูล ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูล
อ่านข่าวสาร นอกจากนี้ยังใช้ในการเชื่อมเข้าหามินิคอมพิวเตอร์หรือเมนเฟรม
เพื่อเรียกใช้งานจากเครื่องเหล่านั้นได้
ซอฟต์แวร์สื่อสารข้อมูลที่นิยมมีมากมายหลายซอฟต์แวร์ เช่น โปรคอม
ครอสทอล์ค เทลิก
- ซอฟต์แวร์ใช้งานเฉพาะ
การประยุกต์ใช้งานด้วยซอฟต์แวร์สำเร็จมักจะเน้นการใช้งานทั่วไป
แต่อาจจะนำมาประยุกต์โดยตรงกับงานทางธุรกิจบางอย่างไม่ได้ เช่นในกิจการธนาคาร
มีการฝากถอนเงิน งานทางด้านบัญชี หรือในห้างสรรพสินค้าก็มีงานการขายสินค้า
การออกใบเสร็จรับเงิน การควบคุมสินค้าคงคลัง
ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ใช้งานเฉพาะสำหรับงานแต่ละประเภทให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้แต่ละราย
ซอฟต์แวร์ใช้งานเฉพาะมักเป็นซอฟต์แวร์ที่ผู้พัฒนาต้องเข้าไปศึกษารูปแบบการทำงานหรือความต้องการของธุรกิจนั้น
ๆ แล้วจัดทำขึ้น โดยทั่วไปจะเป็นซอฟต์แวร์ที่มีหลายส่วนรวมกันเพื่อร่วมกันทำงาน
ซอฟต์แวร์ใช้งานเฉพาะที่ใช้กันในทางธุรกิจ เช่น ระบบงานทางด้านบัญชี
ระบบงานจัดจำหน่าย ระบบงานในโรงงานอุตสาหกรรม บริหารการเงิน และการเช่าซื้อ
ความต้องการของการใช้คอมพิวเตอร์ในงานทางธุรกิจยังมีอีกมาก
ดังนั้นจึงต้องมีความต้องการผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ใช้งานเฉพาะต่าง
ๆ อีกมากมาย
3.
พีเพิลแวร์ (Peopleware)
หมายถึง
เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์
ซึ่งมีหน้าที่และมีความรับผิดชอบแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรู้ การฝึกอบรม
และประสบการณ์ในการทำงาน สำหรับบุคลากรในหน่วยงานจะแบ่งออกได้ดังนี้
- ยูสเซอร์ (User) หมายถึง ผู้ใช้โดยทั่วๆ ไป
อาจจะเป็นผู้ใช้ตามบ้านหรือผู้ใช้ในสำนักงานก็ได้ ยูสเซอร์ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์มากนัก
มักจะใช้งานได้เฉพาะโปรแกรมที่จำเป็นต้องใช้งานอยู่แสมอเท่านั้น
- นักวิเคราะห์และออกแบบระบบ (System Analyst) หมายถึง
ผู้ที่จะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ระบบงาน ตลอดจนดูแลและรับผิดชอบระบบงานต่างๆ
โดยเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์และออกแบบระบบงานระบบข้อมูล
ตลอดจนประสานงานระหว่างผู้ใช้เครื่องกับหน่วยงานคอมพิวเตอร์
นักวิเคราะห์ระบบจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับระบบงานและระบบโปรแกรมเป็นอย่างดี
มีความรู้กว้างขวางในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านธุรกิจ
- นักเขียนโปรแกรม (Programmer)
หมายถึง
ผู้ที่ทำหน้าที่ในการเขียนคำสั่งโดยใช้ภาษาคอมพิวเตอร์
เพื่อให้เครื่องทำงานตามขั้นตอนที่ต้องการโดยใช้ภาษาคอมพิวเตอร์
และสำหรับโปรแกรมที่เขียนขึ้นมานั้นจะต้องเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์และออกแบบระบบต้องการด้วย
และที่สำคัญคือ นักเขียนโปรแกรมจะต้องเข้าใจและมีความรู้ในหลักการต่างๆ
ของการเขียนโปรแกรมเป็นอย่างดี สามารถแก้ไขข้อบกพร่องของโปรแกรมได้เมื่อเกิดปัญหา
- วิศวกรคอมพิวเตอร์ (Computer Engineer)
เป็นผู้ที่จะต้องมีความรู้ทางด้านการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ
ของเครื่องคอมพิวเตอร์ และสามารถแก้ไขให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ตลอดเวลา
ดังนั้นวิศวกรคอมพิวเตอร์จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคและทางด้านอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ดีพอสมควร
นอกจากนี้ยังมีบุคลากรอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์อีกมาก เช่น พนักงานควบคุมเครื่อง, ผู้ดูระบบ, พนักงานเตรียมข้อมูล,
ผู้จัดการฐานข้อมูล ฯลฯ